มาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับบรรจุภัณฑ์

มาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับบรรจุภัณฑ์

GHP หลักการปฏิบัติสุขลักษณะที่ดี

HACCP ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม

เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาใช้เป็นแนวทางการกำหนดระบบการควบคุมการทำงานในการผลิตอาหารหรือการผลิต บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารโดยการจัดทำระบบเอกสารให้สอดคล้องตามมาตรฐานและใช้ระบบเอกสารเป็นเครื่องมือในการบริหารและติดตามประสิทธิผลของการจัดทำระบบโดยมุ่งประเด็นไปที่ขั้นตอนการเตรียมตัวขององค์กร และขั้นตอนการประยุกต์ใช้หลักการ HACCP

การรับรองมาตรฐาน GHP และ HACCP จะทำให้บริษัทเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม สำหรับเกณฑ์การรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารที่ใช้ HACCP นี้ เขียนขึ้นโดยสถาบันมาตรฐานโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นกรอบที่แข็งแกร่งสำหรับการประยุกต์ใช้วิธี HACCP เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน การจัดทำระบบ GHP & HACCP แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารขององค์กร

ประโยชน์ของ GHP & HACCP

ธุรกิจการผลิตอาหารและบรรจุภัณฑ์ ต้องมีพื้นฐานของระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารแล้ว การรับรองมาตรฐาน GHPs & HACCP เป็นขั้นตอนต่อไปสู่การรับรองความปลอดภัยของอาหารอย่างเป็นทางการ และเป็นก้าวย่างสู่มาตรฐานสากล อีกทั้งมาตรฐานนี้จะช่วยให้องค์กรเห็นถึงความมุ่งมั่นต่อระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร และมีประโยชน์เพิ่มเติมดังนี้คือ

  • เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
  • มีวิธีการอย่างเป็นระบบเพื่อระบุและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลูกค้าและซัพพลายเออร์ มั่นใจในการควบคุมการผลิตขององค์กร
  • จัดทำระบบ HACCP ให้สอดคล้องกับ ISO 22000 เพื่อปรับปรุงระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร
  • ตรวจสอบและปรับปรุงระบบขององค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมสีเขียว Green Industry

โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ของประเทศไทยเป็นการริเริ่มหลังการประชุม Green Industry ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization-UNIDO) ซึ่งเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อให้มีการนำมาปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นรูปธรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ 2 ประเด็น ดังนี้

  1. กำหนดแนวทางและจัดทำอุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นรูปธรรมและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นขั้นตอนในแบบฉบับไทยๆ ภายใต้ 2 แนวคิดหลัก คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)
  2. บูรณาการโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของทุกหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมมารวมอยู่ภายใต้ร่มเงาใหญ่ของโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนแนวคิดความสมัครใจของสถานประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 5 ระดับ จากระดับที่ง่ายไปสู่ระดับที่ยาก ในอดีต UNIDO ได้ริเริ่มนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Industry) ในปี พ.ศ. 2552 และได้เริ่มสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ในปี พ.ศ. 2554 แต่แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวของ UNIDO ยังเป็นนามธรรมและขาดขั้นตอนการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ทำให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมไม่ทราบว่าต้องเริ่มดำเนินการได้อย่างไร เพื่อให้แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำหลักการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management – TQM) ผนวกกับหลักการสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Triple Bottom Line) พัฒนาและปรับปรุงเป็นหลักการของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” บนพื้นฐานสำคัญของ 2 เสาหลักคือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ขององค์กร

ในปลายปี พ.ศ. 2553 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เริ่มดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างจริงจังขึ้นโดยดำเนินการทำข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม อันจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ ประชาชนไว้วางใจ และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผนึกกำลังทุกหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย